จิกเขา ๒

Palaquium maingayi (C. B. Clarke) Engl.

ชื่ออื่น ๆ
จิกนมหิน (ปัตตานี); ยักเก็ง (มลายู-ปัตตานี)
ไม้ต้น ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มพูพอนสูง เปลือกเรียบหรือแตกเป็นร่องตื้น มียางสีขาว ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกลุ่มแน่นหรือห่าง ๆ รูปไข่กลับ รูปช้อน หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกเป็นกลุ่มตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบ ดอกสีขาวหรือสีเขียวแกมสีเหลือง ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีหรือทรงเกือบกลม เมล็ดสีน้ำตาล รูปไข่กลับ ขั้วเมล็ดอยู่ที่ปลาย ยาวลงมาตามสันเกือบครึ่งหนึ่งของความยาวเมล็ด

จิกเขาชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๐ ม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๗๐ ซม. ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่ม พูพอนอาจสูงได้ถึง ๑ ม. เปลือกเรียบหรือแตกเป็นร่องตื้น กิ่งอวบสั้น รูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. มียางสีขาว มีร่อง ช่วงปลายกิ่งมีขนสีสนิมปกคลุม

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกลุ่มแน่นหรือห่าง ๆ รูปไข่กลับ รูปช้อน หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๖-๑๗ ซม. ยาว ๑๔-๓๕ ซม. ปลายมน กลม หรือแหลม โคนสอบเรียวหรืออาจกลมและเป็นครีบ ขอบเรียบ หนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๔-๒๓ เส้น ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสีสนิม บางครั้งหนาแน่นตามแนวเส้นกลางใบหรือเส้นใบ ก้านใบยาว ๑.๕-๔.๕ ซม. มีขนหนาแน่น หูใบรูปแถบหรือรูปใบหอกแคบ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๐.๙-๑.๕ ซม. รอยแผลของหูใบรูปสามเหลี่ยมหรือรูปจันทร์เสี้ยว

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกเป็นกลุ่มตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบ กลุ่มละ ๓-๙ ดอก ก้านดอกยาว ๐.๗-๑.๓ ซม. เมื่อติดผลยาวได้ถึง ๒ ซม. มีขนแบบขนแกะปกคลุม กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ แยกเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ ซ้อนเหลื่อมกัน ชั้นนอกรูปไข่ กว้าง ๒.๕-๓.๕ มม. ยาว ๓-๓.๕ มม. ปลายแหลม ด้านนอกมีขนสีน้ำตาลแนบชิด ด้านในเกลี้ยง ชั้นในรูปวงกลม ปลายมนกลม ขอบเป็นเยื่อ เกลี้ยง หรือเป็นชายครุย กลีบดอกสีขาวหรือสีเขียวแกมสีเหลือง ยาว ๐.๗-๑ ซม. โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ถึงรูปใบหอกกว้าง ๒-๒.๕ มม. ยาว ๕.๕-๗ มม. ปลายตัดหรือมนไม่เสมอกัน เกสรเพศผู้ ๑๒ เกสร ยาว ๖-๗.๕ มม. ก้านชูอับเรณูรูปเส้นด้าย ยาว ๓-๓.๕ มม. อับเรณูรูปหัวลูกศร ยาว ๓-๓.๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปจาน กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. เกลี้ยง มี ๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยาว ๖.๕-๗.๕ มม. เป็นสัน ๖ สัน บิด เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรี


หรือทรงเกือบกลม กว้าง ๑.๒-๒.๓ ซม. ยาว ๒-๓ ซม. มี ๑-๒ เมล็ด มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดสีน้ำตาล ทรงรูปไข่กลับ กว้าง ๖-๘ มม. ยาว ๑.๒-๒ ซม. หนา ๓-๕ มม. ปลายมน เรียบและเกลี้ยง ขั้วเมล็ดอยู่ที่ปลาย ยาวลงมาตามสันเกือบครึ่งหนึ่งของความยาวเมล็ด

 จิกเขาชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ตอนล่าง พบตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเลประมาณ ๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและสิงคโปร์.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จิกเขา ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Palaquium maingayi (C. B. Clarke) Engl.
ชื่อสกุล
Palaquium
คำระบุชนิด
maingayi
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Clarke, Charles Baron
- Engler, Heinrich Gustav Adolf
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Clarke, Charles Baron (1832-1906)
- Engler, Heinrich Gustav Adolf (1844-1930)
ชื่ออื่น ๆ
จิกนมหิน (ปัตตานี); ยักเก็ง (มลายู-ปัตตานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ